สวนภูมิทัศน์อังกฤษ | English Landscape Garden

Posted in : ทั่วไป on by : Webmaster Comments: 0

สวนภูมิทัศน์อังกฤษ หรือเรียกอีกอย่างว่าสวนอังกฤษนั้นหมายถึงสไตล์การจัดตกแต่งสวนภูมิทัศน์ที่ปรากฏครั้งแรกในสหราชอาณาจักรศตวรรษที่สิบแปดตอนต้น และได้แพร่กระจายไปในยุโรปวงกว้างในเวลาต่อมา และได้รับความนิยมจนขึ้นเป็นสไตล์การจัดสวนหลักในยุโรป แทนที่การจัดสวนในสไตล์ที่เป็นทางการกว่าและมีความสมมาตรมากกว่าอย่าง ฌาร์แดง อา ลา ฟรังเซ ที่มีมานับตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด สวนภูมิทัศน์อังกฤษนั้นนำเสนอภาพลักษณ์ในอุดมคติของธรรมชาติ สไตล์การจัดสวนดังกล่าวนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดภูมิทัศน์โดยโคล้ด ลอร์รังและนิโคลาส ปูแซง และในกรณีของการจัดสวนแบบผสมอังกฤษ-จีนนั้นก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการการจัดสวนแบบจีนที่เพิ่งถูกนำเข้ามาในยุโรปได้ไม่นานนักผ่านทางปากคำบอกเล่าบรรยายของนักท่องเที่ยว

 
จุดเด่นของสวนสไตล์อังกฤษ
สวนภูมิทัศน์อังกฤษนั้นมักจะประกอบไปด้วยทะเลสาบ สนามหญ้าเกลี่ยเรียบเกลี้ยงที่จัดไว้เทียบเคียงกับป่าสุมทุมพุ่มไม้ และยังมีแบบจำลองของอารามโบราณ และซากปรักหักพังของอาคารสไตล์โกธิค สะพานแบบต่างๆ และสถาปัตยกรรมสวยงามราวภาพวาดอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดต่างสร้างขึ้นเพื่อหวังผลเป็นภาพท้องทุ่งภูมิทัศน์หมดจดราวบทกวี ผลงานการจัดตกแต่งสวนของ แลนเซลอท “แคพาบิลิตี” บราวน์ นั้นมีอิทธิพลอย่างมากเป็นพิเศษ ในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่สิบแปด สวนภูมิทัศน์อังกฤษ นั้นก็ถูกลอกเลียนต่อมาโดยสวนภูมิทัศน์ฝรั่งเศสและสวนในอนาคตกาลของจักรพรรดิพอลที่เซนต์ปีเตอร์สบูร์ก ประเทศรัสเซีย นอกจากนั้น สวนภูมิทัศน์อังกฤษยังส่งอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบของสวนสาธารณะและสวนในบ้านที่เริ่มปรากฏขึ้นทั่วโลกในศตวรรษที่สิบเก้า

 
ความเป็นมาของการตกแต่งสวนสไตล์อังกฤษ
ตามประวัติศาสตร์แล้ว ก่อนหน้าสวนภูมิทัศน์อังกฤษนั้นก็มีสวนที่มีลักษณะใกล้เคียงกันคือสวนขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยเซอร์ จอห์น แวนบรากห์ และ นิโคลลาส ฮอว์กส์มัวร์ ที่คาสเซิลฮาเวิร์ด (1699-1712) เบลนไฮม์พาเลซ (1705-1722) และสวนภูมิทัศน์แคลร์มองต์ที่แคลร์มองต์เฮาส์ (1715-1727) สวนเหล่านี้มีทั้งสนามหญ้ากว้างใหญ่ ป่าปลูก และสถาปัตยกรรมหลายชิ้น ตรงจุดกึ่งกลางของสวนนั้นก็จะเป็นที่ตั้งของตัวบ้าน โดยด้านหลังนั้นจะเป็นสวนที่มีลักษณะทางการและสมมาตรในสไตล์การจัดสวนแบบฝรั่งเศสที่มีทั้งพรมประดับไม้ดอกที่ออกแบบการจัดวางให้เกิดลวดลายสวยงามและกำแพงพฤกษา ตกแต่งเสริมด้วยรูปปั้นลอยตัวและน้ำพุ สวนเหล่านี้มีต้นแบบมาจากสวนแห่งพระราชวังแวร์ซายน์และถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยี่ยมเยียนด้วยขนาดอันใหญ่โตและความตระการตา

 
สวนภูมิทัศน์อังกฤษนั้นถูกคิดค้นออกแบบขึ้นโดยวิลเลียม เคนท์ (1685-1748) นักออกแบบภูมิทัศน์ที่รับทำงานให้กับผู้ว่าจ้างร่ำรวยหลายราย และยังเป็นทั้งสถาปนิก นักเขียนภาพ และนักออกแบบเครื่องใช้ในครัวเรือน และยังเป็นผู้นำเข้าสภาปัตยกรรมแบบพาลาเดียนเข้าสู่อังกฤษ ต่อมาได้ เคนท์พบกับชาร์ลส์ บริดจ์แมน (1690-1738) ที่เป็นนายสวนหลวงให้พระราชินีแอนน์และเจ้าชายยอร์จแห่งเดนมาร์ก และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ซึ่งมีผลต่อการทำงานร่วมกันกับเคนท์อย่างมากในตอนก่อสร้างสวน ต่อมา เคนท์ได้สร้างสวนภูมิทัศน์อังกฤษแห่งแรกขึ้นมาคือสวนที่ชิสวิค เฮ้าส์ โดยยังคงการใช้องค์ประกอบด้านรูปแบบในสไตล์สวนฝรั่งเศส แต่ก็มีสิ่งแปลกใหม่ปรากฏอยู่ในสวนนั้น นั่นก็คืออารามไออนนิคจำลองที่สวยงามตั้งอยู่ในโรงมหรสพแห่งป่าไม้ สวนภูมิทัศน์อังกฤษแห่งต่อมาคือสวนที่โรแชม เฮ้าส์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ประณีตขั้นสูงสุดและมีความสำคัญที่สุดของเคนท์ ผู้อุปถัมภ์ในการก่อสร้างสวนภูมิทัศน์แห่งนี้คือนายพลดอร์เมอร์โดยเริ่มโครงการในปี 1727 ด้วยการจ้างผ่านบริดจ์แมนซึ่งเรียกเคนท์มาสร้างสะพานอีกต่อหนึ่ง

 
ถัดจากเคนท์มา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในพัฒนาการของสวนภูมิทัศน์อังกฤษนั้นคือ แลนเซลอท “แคพาบิลิตี” บราวน์ (1716-1783) โดยบราวน์ นั้นเป็นผู้ทำให้กระบวนการจัดสวนง่ายขึ้นด้วยการตัดองค์ประกอบหรือโครงสร้างที่มีรูปทรงเรขาคณิตออกไปแล้วแทนที่ด้วยสนามหญ้ากว้างขวางที่ทอดยาวจัดกับผืนป่าที่จัดไว้ในพื้นที่หนึ่ง ยุคสมัยที่บราวน์ทำงานอยู่และตัวผลงานของเขานั้นถูกจัดให้เป็นยุคทองของสวนภูมิทัศน์อังกฤษ จากสวนจำนวนนับไม่ถ้วนที่เขามีส่วนในการก่อสร้าง ผลงานโดดเด่นและทรงคุณค่าที่สุดของบราวน์นั้นมีดังต่อไปนี้ เพ็ทเวิร์ธที่สร้างในปี 1752 แชทส์เวิร์ธที่สร้างในปี 1761 บาววูดที่สร้างในปี 1763 เบลนไฮม์พาเลซที่สร้างในปี 1764