เสา (Pillar)

Posted in : วัสดุ งานก่อสร้าง on by : Webmaster Comments: 0

เสาหรือ pillar หรือ column ในภาษาอังกฤษนั้นมีความหมายในทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมเชิงโครงสร้างว่าเป็นโครงสร้างที่มีหน้าที่สำหรับส่งผ่านน้ำหนักของโครงสร้างส่วนบนผ่านการกดทับไปยังองค์ประกอบที่อยู่ข้างใต้ ในอีกความหมายหนึ่ง เสาจึงถือเป็นองค์ประกอบในกระบวนการกดทับของโครงสร้าง คำว่าเสานั้นสามารถใช้ได้โดยเฉพาะกับตัวค้ำยันที่มีลักษณะทรงกระบอกที่ส่วนยอดและส่วนฐาน สร้างขึ้นด้วยหินหรือมีรูปลักษณ์เป็นเช่นนั้น เสาที่สร้างขึ้นจากไม้หรือเหล็กที่ใช้ค้ำจะถูกเรียกว่า post ในภาษาอังกฤษ

ในบางกรณีที่ตัวอาคารจะต้องเผชิญหน้ากับลมหรือแผ่นดินไหวที่รุนแรงนั้น วิศวกรก็จะออกแบบตัวเสาให้มีคุณสมบัติต้านทานแรงผลักในแนวขวางอย่างเป็นพิเศษ นอกจากนั้นเสายังสามารถมีหน้าที่ในการประดับประดาตกแต่งตัวโครงสร้างโดยไม่ได้มีความจำเป็นในฐานะตัวค้ำโครงสร้างส่วนบนแต่อย่างใดได้ด้วย

 

ประวัติและความเป็นมาของเสา

ประวัติของการสร้างเสานั้นสันนิษฐานว่าเริ่มมาจากอารยธรรมอันใดอันหนึ่งในยุคเหล็กของภูมิภาคทางตะวันออกกลางและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยแรกเริ่มนั้นมีการสร้างเสาเพื่อนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม โดยตัวเสาจะมีโครงสร้างเป็นหินที่มีส่วนหนึ่งเว้นไว้สำหรับให้เป็นรูปสลัก พบจากร่องรอยว่ารูปสลักนั้นเป็นผลงานของช่างชาวอียิปต์ เปอร์เซีย และ อารยธรรมอื่นๆ ด้วย ส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อในการรับน้ำหนักจากโครงสร้างส่วนบน เช่น หลังคา และภายในของตัวอาคารและมีการตกแต่งด้วยสีสันหรือภาพวาดต่างๆ แต่ชาวกรีกโบราณจะนิยมใช้ไม้ที่มีขนาดกว้างขวางมากกว่ามาสร้างเป็นเสาทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยเน้นไปในทางรูปแบบงานเสาแบบคลาสลิค

ประเภทของเสาในอารยธรรมโบราณ

วิตรูเวียส นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันได้เล่าโดยอ้างอิงจากงานของนักเขียนกรีกไร้นามคนหนึ่งว่า ชาวกรีกโบราณนั้นเชื่อว่าเสาแบบโดริกนั้นพัฒนามาจากเทคนิคที่ใช้ในการสร้างอาคารไม้ โดยเปลี่ยนจากไม้ขัดเนื้อนิ่มมาเป็นแท่งหินกลมแทน เสาแบบโดริกนั้นเป็นงานสร้างเสาในรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดและซับซ้อนน้อยที่สุดในธรรมเนียมการสร้างเสาแบบคลาสสิค โครงสร้างโดยหลักของเสาโดริกนั้นประกอบด้วยตัวเสาหินที่มีขนาดกว้างตรงส่วนฐาน โดยทั่วไปแล้วไม่มีการลงรายละเอียดตกแต่งใดๆ เป็นพิเศษ เสาโดริกนั้นถูกพัฒนาขึ้นในเขตโดเรียนของกรีกโบราณ ถือกันว่าเป็นงานสร้างเสาที่มีมวลและน้ำหนักมากที่สุดจากบรรดางานสร้างเสาของกรีกโบราณทั้งหมด เสาในแบบต่อมาคือเสาแบบทัสกันที่มีรูปลักษณ์การออกแบบที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับเสาโดริก มีอัตราส่วนระหว่างความสูงกับความกว้างโดยประมาณอยู่ที่ 7:1 โดยประมาณ

เสาแบบต่อมาคือเสาแบบโครินเธียน ที่ตั้งชื่อตามนครรัฐกรีกโบราณที่ชื่อ โครินธ์ แต่หากดูตามที่วิตรูเวียสซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมกล่าวไว้แล้ว เสาโครินเธียนนั้นถูกสร้างขึ้นโดยปฏิมากรชื่อคาลิมาคุส ที่อาจจะเป็นชาวเอเธอนส์ผู้วาดรูปใบไม้อแคนธุสงอกขึ้นรอบๆ ตะกร้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เสาโครินเธียนที่เก่าแก่ที่สุดนั้นถูกค้นพบที่บาสแซ มีอายุย้อนกลับไปเมื่อ 427 ปีก่อนคริสตกาล บางครั้งเสาโครินเธียนก็ถูกเรียกเสาที่มีความเป็นหญิงเนื่องจากส่วนบนของเสาโครินเธียนที่อยู่ในโคลอสเซียมนั้นรับน้ำหนักน้อยที่สุดจากเสาทั้งหมดที่อยู่ที่นั้น เสาโครินเธียนมีสัดส่วนระหว่างความสูงกับความหนาของเสาอยู่ที่ 10:1 โดยประมาณ

เสาแบบโซโลมอนิค ที่บางครั้งถูฏเรียกว่าน้ำตาลบาร์เลย์นั้นมีส่วนบนที่บิดเป็นเกลียวขมวดแน่น จนดูมีลักษณะคล้ายกับอสรพิษเลื้อยวนรอบเสา เสาแบบโซโลมอนิคนั้นถูกคิดค้นขึ้นในโลกยุคโบราณแต่ก็พบเห็นได้น้อยนักแม้แต่ในสถาปัตยกรรมจากยุคนั้นเอง รูปแบบการสร้างเสาประเภทนี้ถูกเบอร์นินีนำไปใช้สร้างเสาขึ้นด้วยสำริดไว้ในซุ้มเซนต์ปีเตอร์อันเลื่องลือของเขาที่ตั้งอยู่เหนือแท่นบูชาเอกภายใต้โดมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในนครรัฐวาติกันในกรุงโรม การก่อสร้างซุ้มเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมของปี ค.ศ. 1623 และมาเสร็จลงในอีกสิบปีต่อมาในปี ค.ศ. 1633

เสาแบบต่อมาคือเสาแบบไอโอนิค ที่มีความซับซ้อนในการออกแบบมากกว่าเสาโดเรียนหรือทัสกัน เสาไอโอนิคมักจะมีตัวฐานหรือส่วนยอดเสาที่มีลักษณะพลิ้วไหวด้วยการสลักโครงสร้างที่ยืดหยุ่น โดยส่วนบนจะมีรูปลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์คือเป็นรูปสลักรูปห่อกลมที่เรียกว่าโวลูเต มีสัดส่วนระหว่างความสูงกับความหนาอยู่ที่ 9:1 โดยประมาณ และด้วยรู)ลักษณ์ที่ดูซับซ้อนของเสาไอโอนิคและการที่มันมักถูกใช้ในโครงสร้างของพวกอาคารอะคาเดมีนี่เองที่ทำให้เสาไอโอนิคมักจะถูกถือกันโดยทั่วไปว่าแสดงออกถึงความมีปัญญาและงานวิชาการ